ระวัง! ใส่ยาแก้ปวดในน้ำผลไม้ เภสัชกรชี้กินมากทำ ′ตับ-ไต′ พัง

ระวัง! ใส่ยาแก้ปวดในน้ำผลไม้ เภสัชกรชี้กินมากทำ ′ตับ-ไต′ พัง

Print

เภสัชกร รพ.ขุขันธ์ เผย พบพวกผู้ค้าหัวใสหลอกลวงผู้บริโภคลักลอบเติม "สารกลุ่มยาเอ็นเสด" ใน "-น้ำสมุนไพร" ชี้กินมากตับและไตพัง อย.ขู่ผู้ผลิตจำคุกตลอดชีวิต

ภก.เด่นชัย ดอกพอง เภสัชกรประจำโรงพยาบาล (รพ.) ขุขันธ์ จ.ศรีษะเกษ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการใช้สเตียรอยด์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ พบว่า ขณะนี้หน่วยงานของรัฐมีการเฝ้าระวังและปราบปรามอย่างจริงจังและประชาชนเริ่มมีความเข้าใจและสามารถสังเกตถึงความผิดปกติหากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสเตียรอยด์ปนเปื้อนได้บ้างเช่นหน้าบวม ตัวบวม หายปวดฉับพลัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มการลักลอบเติมสารสเตียรอยด์เริ่มเปลี่ยนไป เช่น นำไปเติมในน้ำผลไม้และน้ำสมุนไพรที่ขึ้นทะเบียนเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการนำสารตัวอื่นมาเติมแทนสเตียรอยด์ คือ สารกลุ่มยาเอ็นเสด (NSAID) หรือกลุ่มยาแก้ปวดชนิดหนึ่ง โดยพบว่า ยากลุ่มดังกล่าวหากกินในปริมาณมากหรือต่อเนื่องมากเกินไปจะทำให้เกิดอาการไตวายและโรคกระเพาะได้

"แม้ว่ายากลุ่มเอ็นเสดจะมีอันตรายน้อยกว่าสเตียรอยด์แต่ถือว่าน่าเป็นห่วงไม่แพ้กันโดยจากการเฝ้าระวังพบว่า มีการนำไปเติมในสมุนไพรชนิดน้ำ ซึ่งการเติมสารในลักษณะนี้ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณที่ได้รับยาได้และผลกระทบที่เกิดขึ้นจะขึ้นอยู่กับสภาพของบุคคลนั้นๆด้วยหากเป็นผู้สูงอายุที่ไตไม่ดีอยู่แล้วอาจเห็นผลกระทบเร็ว แต่สำหรับคนทั่วไป หากได้รับปริมาณมากหรือติดต่อกับ 2-3 สัปดาห์ สามารถเกิดอาการของโรคไตได้ ทั้งนี้การเติมยากลุ่มเอ็นเสดในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นถือได้ว่าเทียบเท่ากับการผลิตยาปลอม มีโทษเช่นเดียวกัน" ภก.เด่นชัยกล่าว และเสริมว่า การเติมสารกลุ่มเอ็นเสดถือเป็นเรื่องยากที่จะป้องกันเพราะต้องนำตัวอย่างส่งไปตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สำคัญประชาชนยังไม่สามารถเฝ้าระวังได้เองด้วยการสังเกตจากอาการภายนอกดังนั้นเครือข่ายเฝ้าระวังยังคงสุ่มตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไปตรวจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากแหล่งขาย เช่น รถเร่ พระ วิทยุชุมชน ฯลฯ ยังเป็นช่องทางที่พบการขายผลิตภัณฑ์ที่มีการปลอมปนสารมาก

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า สารเอ็นเสดเป็นกลุ่มยาแก้ปวด ลดไข้ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดระคายเคืองและเกิดแผลในกระเพาะอาหาร หากกินมากๆ และติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะเกิดผลเสียต่อการทำงานของตับและไต ดังนั้นยาดังกล่าวจึงถือเป็นยาที่ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น และยาบางตัวในกลุ่มนี้จะอนุญาตให้ขายเฉพาะกรณีที่มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น สำหรับกรณีนี้ถือเป็นการผลิตยาปลอม มีโทษจำคุก 3 ปีถึงตลอดชีวิต ส่วนผู้ขายมีโทษจำคุก 1-20 ปี


ที่มา : http://campus.sanook.com/1372665/%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%87-%E0%B9%83%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%9B%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%89-%E0%B9%80%E0%B8%A0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%8A%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%B3-%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%9A-%E0%B9%84%E0%B8%95-%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%87/