′พ่อ-แม่′คลิกซะ เคล็ดลับป้องกันโรคติดเกม

′พ่อ-แม่′คลิกซะ เคล็ดลับป้องกันโรคติดเกม

Print

ปัจจุบันดูเหมือนว่า โรคติดเกม จะกลายเป็นโรคระบาดร้ายแรงในหมู่เยาวชนชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบต่อครอบครัวจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ คนในเมือง และครอบครัวที่มีการใช้คอมพิวเตอร์ หรือเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที)

เด็กติดเกมมีตั้งแต่นักเรียนชั้นประถมศึกษา จนถึงอุดมศึกษา แม้แต่ในหมู่นักศึกษาแพทย์และวิศวะที่จัดว่าเป็นชนชั้นหัวกะทิ แสดงว่าต่อให้ไอคิวดีก็ไม่ได้รอดพ้นจาก การเป็นเหยื่อของโรคนี้

ครอบครัวหลายครอบครัวที่มีความทุกข์จากปัญหาลูกเป็นโรคติดเกมจนมีผลกระทบต่อพัฒนาการ บุคลิกภาพและการเรียนของลูก กลายเป็นคนขาดวินัย นอนดึก ตื่นสาย ฟุ่มเฟือย เฉื่อยชา ดื้อรั้น ก้าวร้าว ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ขาดความรับผิดชอบ เรียนตก ออกจากโรงเรียน (ไม่เรียนหนังสือ)

พ่อแม่บางคนมัวแต่ทำงานหาเงินทั้งวันไม่มีเวลาดูแลลูก หรือปรนเปรอลูกด้วยเงินทอง วัตถุ ปล่อยให้ลูกเล่นเกม จนในที่สุดติดจนยากที่จะถอนตัวได้

พ่อแม่บางคนรักลูก ตามใจลูก ไม่กล้าเข้มงวดกวดขัน หรือลงโทษลูกเมื่อทำผิด ปล่อยให้ลูกมีนิสัยเกียจคร้าน ไม่รับผิดชอบ ขาดวินัย เพราะมัวแต่เห็นใจว่า "ลูกยังเล็กอยู่" จนลูกกลายเป็นคนขาดภูมิคุ้มกัน เมื่อปล่อยให้เล่นเกมก็ง่ายต่อการติด และพ่อแม่ก็ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร เพราะใจอ่อนกับลูกจนเป็นนิสัยเสียแล้ว

การป้องกันโรคติดเกมนั้น คงไม่ใช่เริ่มจากความคิดในการปฏิเสธเทคโนโลยี หรือห้ามลูกไม่ให้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด เพราะเป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ยากในยุคที่ลูกต้องเติบโตท่ามกลางกระแสไหล่บ่าของเทคโนโลยีซึ่งมีด้านที่ดีมีประโยชน์มากมาย

พ่อแม่และโรงเรียนจะต้องติดอาวุธทางความคิด(ปัญญา) และสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกหลานและยุวชนให้สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างฉลาดรู้ (รู้เท่าทัน)

จากประสบการณ์ส่วนตัวและหลายๆ ครอบครัวที่ให้ลูกเล่นไอทีแล้วไม่เป็นโรคติดเกม มิหนำซ้ำยังสามารถใช้ประโยชน์จากไอทีในการเรียนรู้และการทำงานของลูกได้อย่างเต็มที่ ขอเสนอเคล็ดลับในการป้องกันโรคติดเกมไว้ในที่นี้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

1.ใกล้ชิด 
นับว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกสุด ไม่ว่างานจะยุ่งขนาดไหน พ่อแม่จะต้องแบ่งเวลาเลี้ยงดูลูก เล่นกะลูก สอนลูกตั้งแต่วัยแบเบาะ สร้างความรัก ความอบอุ่น ความผูกพัน ซึ่งจะเป็นรากฐานแห่งสายสัมพันธ์ในครอบครัวอันยาวไกล อย่าคิดว่าลูกยังเล็กไม่รู้ประสา ปล่อยให้คนอื่นเลี้ยงไปก่อน รอให้ลูกโตหน่อยคอยสอนสั่งเอง ก็อาจจะสายเกินแก้

2. ฝึกคิดและทักษะชีวิต 
จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ลูก เช่น เล่านิทาน อ่านหนังสือ เล่นของเล่น เล่นเกม ดูโทรทัศน์ พาไปทัศนาจร เสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเรื่องราวเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน (เช่น ดูข่าวหรือละคร ขณะกินอาหารมื้อเย็นร่วมกัน ขณะเดินทางในรถหรือรถติด) ฝึกให้ช่วยทำงานบ้าน ฝึกแก้ปัญหาและช่วยเหลือผู้อื่น (โดยพ่อแม่ทำเป็นตัวอย่างให้เห็น) โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องสอนให้ฝึกคิดเป็นและรู้หลักการดำเนินชีวิต ที่ดีงาม

ในการบริโภคหรือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนั้นควรสอนหลักคิดอยู่อย่างน้อย2 เรื่อง ได้แก่

หลักคิดเรื่อง " คุณ-โทษ " คือสรรพสิ่งในโลกนี้ย่อมมีทั้งคุณ (ดี) และโทษ (เลว) ในตัวมันเองเสมอ เป็นทวิลักษณ์หรือดาบสองคม ควรเลือกใช้ประโยชน์ให้ถูกและป้องกันโทษที่จะเกิดขึ้น

หลักคิดเรื่อง " คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม " คือมอง แยกแยะสิ่งต่างๆ ให้ออกว่า อะไรคือคุณค่า (ประโยชน์) แท้จริง อะไรคือคุณค่า (ประโยชน์) ที่มากกว่าประโยชน์แท้จริง เช่น นาฬิกามีคุณค่าแท้คือ บอกเวลา คุณค่าเทียมคือ เป็นของประดับ อาหารมีคุณค่าแท้คือ หล่อเลี้ยงชีวิต คุณค่าเทียมคือ ความอร่อย เป็นต้น จึงควรให้ความสำคัญ ต่อคุณค่าแท้มากกว่าคุณค่าเทียม ข้อนี้ช่วยให้มีความฉลาด มีเหตุมีผลและมีความพอเพียงในการบริโภค

3. ปลูกจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ 
ฝึกให้รู้จัก รับผิดชอบต่อตนเอง พ่อแม่ ครอบครัว เพื่อน ครู และสังคม

4. สร้างกรอบวินัย 
ฝึกให้รู้จักมีระเบียบวินัยและกติกา เพื่อไม่ให้ทำอะไรตามใจตัวเองจนมีผลเสียต่อหน้าที่ การงาน การพัฒนาตน และบุคลิกภาพที่ดี มีวุฒิภาวะ ทั้งนี้ ควรหาอุบายให้รางวัลเมื่อลูกทำดี และลงโทษเมื่อลูกทำผิด

ทั้ง 4 ข้อนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันต่อโรคติดเกมเป็นอย่างดี

สำหรับครอบครัวที่มีปัจจัยเกื้อหนุน ควรลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ไว้ใช้ในบ้าน โดยมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

ควรเป็นสมบัติกลางของครอบครัว โดยตั้งไว้ในห้องทำงาน ห้องรับแขก หรือห้องสมุด อย่าให้ลูกยึดครองไว้ใช้ส่วนตัวในห้องนอนลูก ทั้งนี้จะได้มีปฏิสัมพันธ์ เรียนรู้ร่วมกันในเรื่องไอที และง่ายต่อการดูแลกำกับพฤติกรรมการใช้ไอทีของลูก

ควรตั้งกฎเกณฑ์กติกาในการใช้งานตั้งแต่แรก เช่น การจำกัดเวลาและเงื่อนไข (เช่น ต้องรับผิดชอบต่อการเรียนและงานบ้านที่ได้รับมอบหมาย) โดยชี้แจงถึงเหตุผลจนลูกเข้าใจและยอมรับ หากทำผิดกติกาจะต้องหา อุบายลงโทษ

ส่งเสริมให้ลูกใช้ไอทีในการค้นคว้าเรียนรู้ ทำรายงานส่งครู วาดภาพ เล่นดนตรี มากกว่าเล่นเกม อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ไม่ควรห้ามลูกเล่นเกม แต่ควรดูเกมที่ลูกเล่นว่ามีความเหมาะสมตามวัยของลูกเพียงใด

เมื่อลูกขอเงินเพื่อเพิ่มสมรรถนะของเครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ไม่ควรให้ง่ายๆ ควรถามถึงความจำเป็นและฝึกให้ลูกรู้จักทำงานเป็นการแลกเปลี่ยน เช่น ช่วยงานของพ่อแม่ ช่วยพิมพ์รายงานหรือค้นคว้าข้อมูลให้พ่อแม่ เป็นต้น


ที่มา : http://campus.sanook.com/1372437/%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%AD-%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%B0-%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%9B%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1/